ถ้าพูดถึงแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจแม่ทีม หรือแมงเม่ามากที่สุดในเวลานี้ ก็น่าจะเป็น แผนการจ่ายผลตอบแทนแบบ “การลงทุนมีปันผล” หรือ ที่ชอบเรียกกันว่า แผน ROI เป็นแผนการจ่ายที่หากดูแบบผิวเผิน ดูเหมือนจะได้ตังค์ แต่หากไปดูในประวัติศาสตร์ ระยะยาวไม่มีบริษัทไหนจ่ายค่าคอมมิชชั่นได้แม้แต่เพียงรายเดียว ถ้า “ไม่เปลี่ยนแผนใหม่ ก็ปิดหนี หรือล้มกระดาน”
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากแผนการจ่ายดังกล่าวเป็นการนำเงินใหม่ มาจ่ายให้คนเก่า เช่น ลงทุน 20,000 บาท จะได้รับสินค้าเท่านั้นเท่านี้ ตามแพ็คเก็จของแต่ละบริษัท จากนั้นบริษัทจะจ่ายปันผล (ROI) คืนให้กับคนที่ลงทุนร่วมกับบริษัท อาทิ สัปดาห์ละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 13 สัปดาห์ รวมเป็นเงิน 26,000 บาท แต่หากคนนั้นไปแนะนำคนมาลงทุนร่วมกับบริษัทอีก บริษัทก็จะมีค่าการตลาด (ค่าแนะนำ) คืนให้อีก 10-20% ของจำนวนเงิน (ก็แล้วแต่จะอุปโลกน์ขึ้นมา)
หากจะยกตัวอย่างบริษัทที่ทำธุรกิจแนวๆ นี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันมาแล้ว นั่นก็คือ บริษัทจุฑาทิพ My Mochy, บริษัททรูเฟรนด์ (True Fried), บริษัทพี.บี.สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (มหาชน) ล่าสุด บริษัทไอริช (Irich) หรือ ข้าวกอระ นี่ยังไม่นับรวมบริษัทที่ไม่เป็นข่าว อีกเพียบ!!
สรุปก็คือ สาเหตุที่ทุกบริษัทที่ใช้แผนการตลาดแนวๆ นี้ เดี้ยง!! ทุกราย เพราะยอดรายได้ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากยอดขายสินค้าอย่างแท้จริง เป็นการปั่นยอดจากการระดมทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเก่าที่ได้เงินจากการลงทุนไปแล้ว ไม่เอาเงินมาลงทุนต่อ แล้วนอนรอรับเงินปันผลอย่างเดียว ยอดจากคนใหม่ก็ไม่มีเข้ามาเพิ่ม หรือมีเข้ามาเพิ่ม แต่ไม่พอกับรายจ่ายที่จ่ายให้กับคนเก่า ยังไงก็โอเวอร์เปย์ หรือจ่ายไม่ได้นั่นเอง
ดังนั้นเมื่อปลายทางทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คำตอบจะเป็นอย่างไร หลายคนไม่ใช่ไม่รู้…แต่อยากจะลองเสี่ยงดู เพราะคิดว่า ถ้าลงก่อน จะได้เปรียบ จากนั้นจะได้รีบโกย ก็เลยไปแนะนำคนใหม่ คนใหม่ก็คิดเหมือนกัน “รีบลง..รีบโกย”
เมื่อมีแต่คนคิดอยากจะได้ ความโลภบดบังความฉลาด จึงไม่ทันระวังตัว ทำให้กลายเป็นเหยื่อ มีผู้เสียหายเกิดขึ้น โดยผู้เสียหายจากคนที่มาใหม่คิดว่า จะรีบลง..แล้วรีบโกย แค่คิด ยังไม่ทันไหวตัว บริษัทก็ล้มกระดาน หรือเปลี่ยนแผนใหม่ หรือปิดหนีก่อน
ดูได้จากกลุ่มผู้เสียหายที่ออกมาฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้เสียหายบางคน ขอย้ำๆๆ “บางคน” รู้ทั้งรู้ว่า บริษัทเล่นปาหี่ หรือ ไปต่อไม่ได้แน่นอน ก็ยังกล้าที่จะเอาเงินเก็บ หรือไปกู้ยืมมา เพื่อมาลงทุน ซ้ำร้ายยังไปชวนคนอื่นมาลงทุนด้วย สุดท้ายก็เลยกลายเป็นแมงเม่าเสียเอง
“เมื่อพลาดเสียรู้แก่บริษัทนี้ ก็เลยไปขอแก้ตัวบริษัทหน้า จึงเกิดเป็น “กงกรรม กงเวียน” เวียนวาย ตายเกิด ไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้ธุรกิจแนวๆ นี้ ไม่จางหายไปจากอุตสาหกรรมขายตรงเมืองไทยเสียที!!
More Stories
The GEMS บินลัดฟ้าตะลุยแดนกิมจิ ยกทัพผู้นำ 40 ชีวิต เที่ยวเกาหลี กิน ช้อปสุด Exclusive
AW9 เขย่าตลาดสุขภาพดึง “ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์”นั่งพรีเซ็นเตอร์ BLAZO Multi Plant Protein
สุดคึกคัก! ซัคเซสมอร์จัดงานงานวิ่งการกุศลครั้งใหญ่แห่งปี