พฤศจิกายน 8, 2024

ยธ.-DSI จ่อเรียกสอบขายตรงเบี้ยวค่าคอมฯ

กดแชร์ได้เลยจ้า

องค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ ยื่นหนังสือถึงเลขา รมว.ยุติธรรม หลังกลุ่มผู้เสียหายโดนหลอกร่วมลงทุนนอกอาณาจักร-ธรุกิจขายตรง แต่ไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่น ระบุความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท ด้านเลขาฯ รมว. ยันพร้อมให้ความยุติธรรมกับประชาชน ขณะที่ DSI เตรียมเรียกหลักฐานจดทะเบียนตรวจสอบ หวังเอาผิดขั้นเด็ดขาด

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือ ยธ. รับเรื่องจาก นางสาวกฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ และหัวหน้าพรรคมะลิ ซึ่งได้นำผู้เสียหายส่วนหนึ่ง กว่า 50 ราย มายื่นเรื่องกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ตรวจสอบกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. อ้างผู้จำหน่ายอิสระไม่ใช่ผู้บริโภค จึงไม่สามารถพิจารณาดำเนินการกรณีร้องเรียนได้ ทำให้ผู้จำหน่ายอิสระทั้งระบบทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน หลังเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทธุรกิจขายตรง กับบริษัท ทรูเฟรนด์ 2020 จำกัด และกลุ่มบริษัทไอริช อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 จำกัด แต่ไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายรวมหลายพันล้านบาท และต้องการให้ตรวจสอบธุรกิจ CROWD1 ที่ไม่มีการจดทะเบียนขออนุญาตใดๆ จึงเข้าข่ายประกอบธุรกิจแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ว่าที่ ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หลังจากไปร้องเรียนกับบางหน่วยงานแต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเข้าร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรม ตนยืนยันและสัญญาว่าจะรับเรื่องความเสียหายมาดำเนินการให้เรียบร้อย และขอย้ำว่าไม่อยากให้ประชาชนหลงเชื่อธุรกิจดังกล่าว ทั้งธุรกิจข้าว กาแฟขายตรง เพราะมักเอาผลตอบแทนจำนวนสูงมาล่อลวง โดยชุดแรกๆ จะได้เงินตอบแทน แต่หลังจากนั้นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีทั้งได้เงินช้าลง และไม่ได้สักบาทเดียวก็มี
โดยขณะนี้ตนได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เข้าไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้จะเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการออกเอกสาร หรือใบอนุญาต เพื่อกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำ ส่วนกรณีที่ไปร้องเรียนกับ สคบ. แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น จะให้ดีเอสไอ ทำหนังสือเร่งรัดไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคืบหน้าทางคดีต่อไป

ส่วนกรณีการสร้างแฟลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ ของบริษัท CROWD1 ซึ่งอ้างว่ามีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้มีการจดทะเบียนแต่อย่างใดในประเทศไทย โดยหลังจากนี้ตนจะสั่งการเน้นย้ำให้มีการบูรณการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้พี่น้องประชาชนตระหนักถึงการลุงทุนในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ ภายใต้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เสียหายทุกราย ที่ไม่สะดวกเดินทางมายื่นเรื่องด้วยตนเองที่หน่วยงาน ให้สามารถส่งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็ปไซต์ของดีเอสไอได้แล้วเช่นกัน

ขณะที่ นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เปิดเผยว่า ในส่วนธุรกิจขายตรงข้าวนั้น ดีเอสไอ ได้ตั้งเรื่องสืบสวนแล้ว โดยภายในสัปดาห์นี้น่าจะได้ข้อสรุปว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนการสร้างแฟลตฟอร์มออนไลน์ โดยหลอกว่ามีการลงทุนนอกอาณาจักรเพื่อลวงเหยื่อนั้น ในสัปดาห์หน้าเตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. เพื่อให้นำหลักฐานการกล่าวอ้างการจดทะเบียนนิติบุคคลมาให้ตนรับทราบ และเรียกผู้จดทะเบียนมาชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร


กดแชร์ได้เลยจ้า