กรกฎาคม 27, 2024

คคบ. มีมติดำเนินคดีเจ้าของธุรกิจ เหตุละเมิดสิทธิผู้บริโภค 14 ราย สั่งชดเชย 5.7 ล้านบาท

กดแชร์ได้เลยจ้า

คุณอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มอบหมายให้ คุณชาตรี สุวรรณิน เลขาธิการ เนติบัณฑิตยสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม คคบ. ครั้งที่ 2/2565 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์

โดยที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 5 เรื่อง (ประเภทที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดคอนโดมิเนียม และก่อสร้างบ้าน) และธุรกิจด้านสินค้า และบริการทั่วไปจำนวน 9 เรื่อง (ซื้อคอร์สเสริมความงาม จองตั๋วเครื่องบิน ซื้อรายการนำเที่ยว คอร์สเสริมความงาม จัดหาพนักงานดูแลผู้ป่วย ซ่อมแซมหลังคาบ้าน และบริการทำสีผม)

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2565 ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน 14 ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,722,686.16 บาท (ห้าล้านเจ็ดแสนสองหมื่นสองพันหกร้อยแปดสิบหกบาทสิบหกสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

สำหรับรายละเอียดของการดำเนินคดีทั้ง 14 เรื่อง แบ่งออกเป็นดังนี้

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวน 5 เรื่อง

1.กรณีผู้บริโภค 2 ราย ได้ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (อาคารพาณิชย์ 5 ชั้น 2 คูหา) เพื่ออยู่อาศัย กับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา 22,000,000 บาท โดยได้ชำระเงินมัดจำ จำนวน 200,000 บาท เงินทำสัญญา จำนวน 800,000 บาท และเงินดาวน์ จำนวน 1,280,000 บาท รวมเงินที่ชำระทั้งสิ้น 3,240,000 บาท ปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 6 ปี ปรากฏว่าโครงการฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งเทศบาลเมืองป่าตองได้ตรวจสอบโครงการซึ่งใบอนุญาตการก่อสร้างได้สิ้นระยะเวลาลงแล้วและไม่มีการต่อใบอนุญาตแต่อย่างใด ปัจจุบันได้หยุดการก่อสร้างแล้ว ประกอบกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าบริษัทฯ ปิดกิจการ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว กรณีดังกล่าวบริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน 2 ราย เป็นเงินจำนวน 3,240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

2.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่งเพื่ออยู่อาศัย แต่ผู้บริโภคไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ โดยผู้บริโภคได้ชำระเงินจองจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญา จำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท ซึ่งถือเป็นเงินมัดจำตามสัญญา เมื่อผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทฯ จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำดังกล่าวได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคได้ชำระเงินเงินดาวน์จำนวน 290,200 บาท ถือเป็นการชำระราคาบางส่วน การบริษัทฯ อ้างสัญญาว่า “ในกรณีผู้จะซื้อผิดนัดชำระเงินที่ตกลงให้ชำระก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดหรือเงินอื่นใดที่ผู้จะซื้อได้ชำระให้มาแล้วทั้งหมดได้ทันที…” ข้อความดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้บังคับได้ เมื่อบริษัทฯ ปฏิเสธคืนเงินดาวน์การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค เป็นเงินจำนวน 290,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

3.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งให้ก่อสร้างบ้านพักโครงสร้างเสริมเหล็ก 2 ชั้น ต่อมาผู้บริโภคได้เข้าอาศัยในบ้านหลังดังกล่าวแล้วพบว่า การก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลน มีการใช้วัสดุในบางจุดที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่องและความเสียหายต่อบ้านพักอาศัย จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขความบกพร่อง แต่บริษัทฯ เพิกเฉยไม่ดำเนินการซ่อมแซม สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า โครงสร้างอาคารไม่มีปัญหาการทรุดตัว แต่มีข้อบกพร่องในการก่อสร้างบ้านที่ไม่ได้มาตรฐานหลายประการ  ถือว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชอบซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ร้องพร้อมชดใช้ความเสียหายจากกรณีดังกล่าว มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้ซ่อมแซมบ้านพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

4.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด กับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา 1,788,000 บาท ได้ชำระเงินจอง จำนวน 10,000 บาท เงินทำสัญญา จำนวน 29,000 บาท และเงินดาวน์จำนวน 200,100 บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 239,100 บาท ต่อมาผู้บริโภคได้ยื่นขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ไม่ได้รับอนุมัติ จึงติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอเงินคืน แต่ได้รับการปฏิเสธ และเมื่อพิจารณาเงินจองและเงินทำสัญญาถือเป็นเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ ต้องคืนเงินมัดจำบางส่วนแก่ผู้บริโภค ส่วนเงินดาวน์ จำนวน 200,100 บาท ถือเป็นการชำระราคาบางส่วน บริษัทฯ ไม่มีสิทธิริบเพราะเหตุที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องคืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน 200,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

5.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา 2,443,000 บาท โดยได้ชำระเงินทำสัญญาและเงินดาวน์ไปแล้วบางส่วน ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่ไม่ได้รับอนุมัติ จึงติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอเงินคืน แต่ได้รับการปฏิเสธ และเมื่อพิจารณาเงินจองและเงินทำสัญญาถือเป็นเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ ต้องคืนเงินมัดจำบางส่วนแก่ผู้บริโภค ส่วนเงินดาวน์ จำนวน 271,200 บาท ถือเป็นการชำระราคาบางส่วน บริษัทฯ ไม่มีสิทธิริบเพราะเหตุที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องคืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนวน 271,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 9 เรื่อง

1.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สเสริมความงามกับบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 130,000 บาท กำหนดสัญญาใช้บริการ 2 ปี ผู้บริโภคได้ใช้บริการไปแล้ว 5 ครั้ง คิดเป็นเงิน  21,000 บาท ยังคงเหลือยอดเงินที่ไม่ได้ใช้บริการคิดเป็นเงิน 108,500 บาท  เมื่อผู้บริโภคเข้ารับบริการปรากฏว่าบริษัทฯ ได้ปิดกิจการ ไม่สามารถให้บริการได้ จึงถือว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนวน 108,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

2.กรณีผู้บริโภคกับพวกรวม 7 ราย แจ้งว่าได้จองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์กับสายการบินแห่งหนึ่ง ต่อมาได้รับข้อความ SMS จากสายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด จึงได้โทรศัพท์ติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงสายการบินดังกล่าว เพื่อให้พิจารณาเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหลายประการและเสียโอกาสในการซื้อตั๋วโดยสารสายการบินอื่นในราคาถูก กรณีดังกล่าว บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาในการให้บริการและไม่คืนเงิน ไม่ชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ซึ่งอาจมีผู้ร้องหลายรายที่ได้รับความเสียหาย  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคกับพวกรวม 7 ราย จำนวน 16,072.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

3.กรณีผู้บริโภคซื้อรายการนำเที่ยวกับบริษัทแห่งหนึ่ง รวมเป็นเงิน 210,000 บาท แต่ปรากฏว่าเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID 19 บริษัทฯ ไม่สามารถให้บริการผู้บริโภคได้ตามสัญญาและไม่คืนเงิน ประกอบกับนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขากรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติสั่งจ่ายเงินจากหลักประกันของบริษัทฯ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายคืนให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 60,000 บาท และยังมีความเสียหายที่ผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระเป็นเงินจำนวน 150,000บาท บริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้ร้องผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

4.กรณีผู้บริโภคซื้อคอร์สเสริมความงามกับบริษัทแห่งหนึ่งจำนวน 5 รายการ เป็นเงิน 200,000 บาท  ต่อมาปรากฏว่า บริษัทฯ ปิดกิจการไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา จึงมีความประสงค์ขอคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 189,514 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

5.กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จัดหาพนักงานดูแลผู้สูงอายุภายหลังออกจากโรงพยาบาล โดยชำระเงินค่าบริการ 3,000 บาท และค่ามัดจำ 16,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 19,000 บาท แต่แพทย์มีความเห็นให้มารดาต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป ผู้บริโภคจึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ตกลงยกเลิกสัญญาแต่ไม่คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จากการตรวจสอบสถานะของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พบว่า ไม่มีข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีมติดำเนินคดีแพ่งแก่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจมุ่งประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มีแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

6.กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จัดหาพนักงานดูแลบิดา โดยได้ชำระเงินมัดจำล่วงหน้า 15,000 บาท และค่าบริการ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท ต่อมาบิดาของผู้บริโภคเสียชีวิต จึงติดต่อไปยังห้างฯ เพื่อขอยกเลิกสัญญาและขอให้คืนเงินที่ได้ชำระไว้ จากการเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองสามารถตกลงกันได้ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าห้างฯ ตกลงคืนเงินมัดจำ 15,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นจำนวน 5 งวด งวดละ 3,000 บาท หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้ผู้บริโภคนำคดีไปฟ้องต่อศาลได้ทันที ต่อมาผู้บริโภคแจ้งว่า ห้างฯ ชำระเงินให้แก่ผู้บริโภคเพียง 2 งวด รวมเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท กรณีดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 9,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

7.กรณีผู้บริโภคว่าจ้างให้บุคคลให้ดำเนินการซ่อมแซมหลังคาบ้าน โดยได้มีการทำสัญญาและ

มีค่าใช้จ่ายจำนวน 17,000 บาท ซึ่งได้ลดราคาให้ จำนวน 500 บาท คงเหลือ 16,500 บาท ผู้บริโภคได้ชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏขณะฝนตกพบว่าหลังคาบ้านได้รั่วอีก ผู้รับจ้างไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทำให้ฝ้าเพดานของบ้านผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ผู้บริโภคจึงว่าจ้างให้บุคคลภายนอกเข้ามาซ่อมแซมแก้ไขและมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 5,000 บาท และประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมฝ้าหลังคาพร้อมทาสีที่เกิดความเสียหายจากน้ำรั่วเป็นเงิน 9,000 บาท กรณีดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้ตามความประสงค์แท้จริงแห่งมูลหนี้ ผู้บริโภคในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งบุคคลในฐานะผู้ถูกร้อง เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

8.กรณีผู้บริโภคได้เข้าไปใช้บริการทำสีเส้นผมและยืดเส้นผมกับร้านทำผมแห่งหนึ่ง โดยมีเจ้าของร้านเป็นผู้ถูกร้อง ซึ่งผู้ร้องได้ชำระค่าบริการเป็นเงิน 2,200 บาท ภายหลังจากการใช้บริการ พบว่าเส้นผมมีอาการแห้งและขาดหลุดร่วง ผู้ถูกร้องแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายโดยคืนเงินให้จำนวน 1,200 บาท ปรากฏว่าเจ้าของร้านคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 100 บาท แต่ยังมิได้ชำระเงินค่าเสียหายส่วนที่เหลือจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งร้านทำผมซึ่งมีเจ้าของร้านเป็นผู้ถูกร้อง เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 1,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

9.กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง โดยมีเจ้าของห้างฯ เป็นผู้ถูกร้อง ซึ่งได้มีการชำระเงินมัดจำล่วงหน้า เป็นเงิน 17,000 บาท และค่าบริการ เป็นเงิน 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 19,000 บาท ต่อมาพนักงานของห้างฯ ได้หนีออกจากบ้าน ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ให้ห้างฯ คืนเงินจำนวน 17,000 บาท จากการตรวจสอบการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลของห้างฯ แต่อย่างใด ห้างหุ้นส่วนจำกัดในฐานะผู้รับจ้างและผู้ให้บริการตามสัญญา ไม่สามารถจัดหาพนักงานดูแลผู้ป่วยได้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้บริโภคได้ติดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อบอกเลิกสัญญาและขอให้คืนเงินมัดจำคืน จำนวน 17,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลับเพิกเฉย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยเจ้าของห้างฯ เป็นผู้ถูกร้อง เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย


กดแชร์ได้เลยจ้า